ลองมาดู ธนบัตรใบแรกของโลก
ธนบัตรใบแรกของโลก
“ธนบัตรใบแรกของโลก” ก็คือเงินกระดาษนั้นเอง เริ่มใช้ครั้งแรกโดยทางการจีน ธนบัตรใบแรก หรือ เงินกระดาษ จริงๆควรเรียกมันว่า ตั๋วแลกเงิน มากกว่าจะนับว่ามันเงินจริงๆ การใช้งานของมันคือ ให้บรรดาพ่อค้าทั้งหลายทำการฝากเงินจริงไว้กับทางการ แล้วทางการจะออกกระดาษเอกสารรับรองเอาไปแลกเป็นเงินสดกับทางการคืนได้ในเมืองอื่นๆ การใช้ตั๋วแลกเงินนี้เรามักจะเห็นอยู่ในหนังจีนย้อนยุคหลายๆเรื่อง
ที่มีการใช้ตั๋วแลกเงินแทนการใช้เงินจริงๆ นับได้ว่าจีนเป็นชาติที่เริ่มใช้ ธนบัตรใบแรกของโลก หรือเงินกระดาษมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 8 หรือต้นศตวรรษ ที่ 9 หรือเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว
ในศตวรรษที่ 10 ทางการจีนได้มีแต่งตั้งธุรกิจเอกชน 16 ราย ทำหน้าทีคล้ายๆธนาคารในปัจจุบัน มีหน้าที่ออกเอกสารแลกเปลี่ยน หรือตั๋วแลกเงิน ภายหลังทางการได้ดึงอำนาจกลับมาจากเอกชน แล้วใช้ตัวแทนของทางการเองทำการออกธนบัตรเป็นหน่วยเงินต่างๆ ที่มีเงินสดสำรองไว้รองรับ นี่จึงนับได้ว่าเป็นธนาคารของรัฐที่มีสกุลเงิน และเงินฝากไว้รองรับแห่งแรกของโลก แต่ธนบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งนี้ จะมีข้อความประทับอยู่ในธนบัตรว่า สามารถใช้ได้เพียงสามปีเท่านั้น
เมื่อเริ่มใช้ธนบัตร หรือตั๋วแลกเงินนี้ไปได้สักพัก ก็เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงเนื่องจากมีการออกตั๋วแลกเงินมาจำนวนมาก ปัญหาต่อมาคือการปลอมแปลงธนบัตรเนื่องจากมันยังเป็นเพียงกระดาษธรรมดาซึ่งง่ายต่อการปลอมแปลงมาก ทางการจึงต้องมีมาตรการในการผลิตธนบัตรให้ซับซ้อนขึ้น แล้วมีการรักษาความลับของการผลิตไว้ ธนบัตรในช่วงแรกๆก็จะมีการพิมพ์ออกมาหลากหลายสี มีการใช้ลวดลายต่าง และมีส่วนผสมเฉพาะรวมเข้าไปในกระดาษที่ใช้ผลิต วัสดุพื้นฐานเลยก็คือ เปลือกต้นสา บางทีอาจจะมีการผสมผ้าไหมลงไปด้วย เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลง
คดีปลอมแปลงธนบัตรครั้งใหญ่ที่มีการเล่าถึงคือ มีช่างที่สามารถแกะแม่พิมพ์ธนบัตรออกมาได้เพียง 10 วัน และพิมพ์ธนบัตรปลอมออกมาถึง 2,600 ใบ ในช่วงเวลา 6 เดือน ก่อนจะถูกจับได้และโดนประหารชีวิต
ในช่วงที่ชาวมองโกลครองอำนาจในจีน ก็มีการผลิตเงินกระดาษสกุลแปลกๆ ออกมาเรียกว่า ธนบัตรผ้าไหม สิ่งมีค่าที่สำรองในการใช้สกุลเงินนี้จะใช้มัดเส้นด้ายไหมแทนโลหะมีค่า พวกเงินรุ่นเก่าต้องนำมาแลกเป็นธนบัตรผ้าไหมแทน และการใช้ธนบัตรผ้าไหมของจีนไปไกลถึงเปอร์เซีย
สมัยราชวงศ์หมิงเอง ก็ได้มีการผลิตธนบัตรชนิดใหม่ออกมา โดยมีมูลค่าเดียวตลอดเวลาสองร้อยปี ซึ่งการกำหนดค่าแบบนี้ ทำให้ไม่สะดวกต่อการค้าขาย แม้จะอนุญาตให้ใช้เหรียญทองแดง สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ธนบัตรเหล่านี้มีค่าเสื่อมลงจากสภาวะเงินเฟ้อ และถูกแทนที่ด้วยสินแร่เงิน
หลังจากการจัดการการใช้ธนบัตรพลาดมาร่วมสองศตวรรษ ราชวงศ์หมิงพยายามนำธนบัตรกลับมาใช้อีกครั้ง แต่ยังไม่มีการจัดการที่ดีพอ ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ขึ้นอีก จนการใช้ธนบัตรมีความนิยมลดลงอีก จนกระทั่งมหาอำนาจยุโรปนำธนบัตรกลับมาปรับใช้ใหม่ และได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบัน